วัดมเหยงคณ์

วัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

วัดมเหยงคณ์ ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันออก วัดนี้มีกล่าวถึงอยู่ในพงศาวดารหลายฉบับ และมีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์อยุธยาหลายรัชกาล เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ กล่าวว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1981 และสันนิษฐานว่าสร้างพระราชทานแก่พระมเหสีพระองค์หนึ่งซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย

ฉนวนทางเดิน

เราเดินทางมาถึงที่นี่เวลาประมาณ 16.00 น. จอดรถที่ลานจอดรถ จากนั้นเดินมาตามทาง ผ่านจุดที่มีดอกไม้ ธูป เทียน สำหรับบูชา แล้วเดินไปตามฉนวนทางเดินตรงสู่อุโบสถ

เป็นอีกครั้งที่ตามรอยหนังสือของ อ.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ที่อ่านแล้วทำให้การมาเยี่ยมชมวัดได้รับความรู้มากมาย

อุโบสถ
ภายในอุโบสถ

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในพระราชพงศาวดารหลายฉบับกล่าวว่าในรัชกาลนี้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ครั้งสำคัญ เนื่องจากวัดชำรุดปรักหักพัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจึงโปรดให้อัครมหาเสนาบดีไปปฏิสังขรณ์และให้สร้างพระตำหนักริมวัดเสด็จพระราชดำเนินออกไปประทับคราวละเดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง เมื่อบูรณะเสร็จแล้วโปรดให้จัดสมโภชวัด 3 วัน

หลวงพ่อหินทราย

อุโบสถ

โดยตำแหน่งของอุโบสถหลังนี้แต่เดิมในสมัยอยุธยาตอนต้นคงเป็นตำแหน่งของวิหาร ส่วนการเปลี่ยนวิหารมาเป็นอุโบสถสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายราวรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ดังที่พระราชพงศาวดารกล่าวว่ามีการบูรณะครั้งใหญ่ และเป็นความนิยมสมัยอยุธยาตอนปลายที่จะให้ความสำคัญกับอุโบสถมากกว่าวิหารโดยนิยมสร้างไว้หน้าเจดีย์ เช่น วัดไชยวัฒนารามเป็นตัวอย่างสำคัญ ส่วนฐานอุโบสถยกเป็นฐานไพที่สูง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ แต่ละด้านมีประตูทางเข้า ประดับเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ฐานอุโบสถเป็นฐานบัวประดับลูกแก้วอกไก่ ที่มีลูกแก้วอกไก่เป็นแนวขนาดเล็ก ผนังก่อหนาเป็นตัวรับน้ำหนัก มีเสาติดผนังหรือเสาอิงเป็นงานประดับ มีการเจาะช่องหน้าต่าง เสาประตูและหน้าต่างเป็นเสาขนาดเล็กบอบบาง น่าจะเคยมีการประดับลายกาบไผ่ ทั้งกาบบน กาบล่าง และประจำยามอก มีฐานสิงห์รองรับ เป็นแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

หลวงพ่อหินทราย
หลวงพ่อหินทราย

ชอบพระพุทธรูปองคนี้มากค่ะ สวยงามจริงๆ

อุโบสถ วัดมเหยงคณ์
อุโบสถ
อุโบสถ
อุโบสถ
อุโบสถ
ใบสีมา

หลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นงานบูรณะในสมัยอยุธยาตอนปลาย คือ ใบสีมา ทำจากหินชนวนขนาดใหญ่แบบอยุธยาตอนต้น ตามปรกติจะปักอยู่กับพื้นโดยตรง แต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายจะทำเป็นใบสีมาขนาดเล็กและทำแท่นตั้งใบสีมาที่เรียกว่า “สีมานั่งแท่น” ซึ่ง ณ ที่นี้จะเห็นว่ามีการทำแท่นตั้งใบสีมาเป็นฐานสิงห์ ลักษณะฐานที่มีแข้งสิงห์บอบบางแบบอยุธยาตอนปลายแสดงว่าฐานนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยใช้ใบสีมาเดิมที่มีมาตั้งแต่อยุธยาตอนต้น นับเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งว่ามีการย้ายอุโบสถมาแทนตำแหน่งวิหารนี้ (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

อุโบสถ
ซุ้มประตู อุโบสถ
เจดีย์ประธาน

เจดีย์ประธาน

เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ 1 ชั้น ที่ฐานประดับช้างล้อมรอบ ที่ช้างมีการแบ่งเป็นช่องเสา และมีซุ้มทุกช่องเป็นซุ้มแบบกรอบหน้านาง ที่ชั้นล่างสุดเจาะช่องจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบแบบเดียวกับวัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย

ส่วนองค์ระฆังมีขนาดใหญ่และมีสัดส่วนเตี้ยแบบเจดีย์อยุธยาแท้ ส่วนยอดพังทลายแล้วแต่ยังปรากฏหลักฐานอยู่บนลานประทักษิณเป็นยอดแบบเจดีย์ระฆังโดยทั่วไป (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

ส่วนปล้องไฉนของเจดีย์ประธานที่พังทลายลง
ช้างประดับชั้นประทักษิณเจดีย์ประธานมีซุ้มกรอบหน้านาง
เจดีย์บริวารประจำมุม

เจดีย์บริวารประจำมุมเจดีย์ประธานทั้งสี่องค์ มีรูปแบบเดียวกันทั้งหมด และมีร่องรอยการบูรณะโดยการพอกทับเจดีย์องค์เดิมไว้ภายในทุกองค์ มีรูปแบบสำคัญ คือ ส่วนฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัส 1 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นชุดรองรับองค์ระฆังที่มีชุดบัวถลา 3 ชั้น และต่อด้วยชุดมาลัยเถา 3 ชั้น ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดเหมือนกับเจดีย์ประธาน (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

วัดมเหยงคณ์
ฉนวนทางเดิน

ทางเข้าวัดด้านหน้าจากซุ้มประตูมายังอุโบสถจะมีทางเดินที่เรียกว่า “ฉนวนทางเดิน” ซึ่งพื้นทางเดินปูด้วยอิฐแบบหยักฟันปลา คือ การปูพื้นโดยใช้สันอิฐตั้งขึ้นและเรียงสลับกันเป็นรูปฟันปลา นิยมใช้สำหรับปูทางเดินเพราะทำให้มั่นคงแข็งแรง อิฐไม่ทรุดตัวง่าย ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะพบเป็นทางเดินในพระราชวังที่เรียกว่าฉนวนทางเดิน เช่นทางเดินจากพระราชวังมายังวัดพระศรีสรรเพชญ์ จึงสันนิษฐานว่าทางฉนวนและกำแพงกั้นทางเดินนี้ อาจสร้างขึ้นสำหรับฝ่ายในเวลาเสด็จมาวัดนี้ก็เป็นได้ (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

"คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา" โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์
“คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้ค่ะ เป็นหนังสือเล่มโปรดเลย

The photographs may not be copied, reproduced, redistributed, manipulated, projected, used or altered in any way without the prior express written permission of Juth.Net

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.