วัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา

วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณเชิงสะพานป่าถ่าน ติดกับวัดมหาธาตุทางบริเวณทิศตะวันออก ห่างจากพระราชวังโบราณ เพียงเล็กน้อย จัดเป็นหนึ่งในวัดที่ใหญ่และมีความเก่าแก่มากที่สุดในพระนครศรีอยุธยา สร้างโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. 1967

วัดราชบูรณะมีชื่อเสียงและความโด่งดังมากในเรื่องการถูกกลุ่มคนร้ายจำนวนหนึ่ง ลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน ในปี พ.ศ. 2499 และลักขโมยทรัพย์สมบัติจำนวนมากมายมหาศาลหลบหนีไป ต่อมากรมศิลปากรเข้าทำการบูรณะขุดแต่งต่อภายหลัง พบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองจำนวนมากมาย ปัจจุบันทรัพย์สมบัติภายในกรุถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องราชบูรณะ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา (ข้อมูลจาก Wikipedia)

วิหารหลวง

เราเดินทางมาถึงที่นี่ประมาณ 12.44 น. จากการอ่านหนังสือ “พระพุทธรูป พระพิมพ์ จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา” ของอาจารย์ศักดิ์ชัย สายสิงห์ และการไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา (คลิกที่นี่เพื่ออ่าน) ทำให้เราตื่นเต้นที่จะได้มาชมพระปรางค์วัดราชบูรณะของจริง ถึงแม้จะกลัวความสูง แต่ก็ฝ่าฟันความกลัวขึ้นไปบนพระปรางค์ประธานเพื่อเข้าไปดูภายในพระปรางค์ได้

มองเห็นปรางค์ประธาน
ภายในวิหารหลวง

พระวิหารหลวง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ประธาน ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีมุขหน้า-หลัง บริเวณส่วนท้ายของวิหารหลวงเชื่อมต่อกับแนวระเบียงคดตามรูปแบบแผนผังวัดสมัยอยุธยาตอนต้น ภายในอาคารยังคงปรากฎผนังด้านข้างที่เจาะหน้าต่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าผนังด้านหน้ามีช่องประตูอยู่ 3 ช่อง ช่องกลางเป็นช่องประตูประธาน มีขนาดใหญ่กว่าสองช่องที่ขนาบข้าง เหนือช่องประตูมีลวดลายปูนปั้นประดับหน้าบันซุ้มประตูตามรูปแบบงานช่างที่ซ่อมแซมขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย (ข้อมูลจากป้ายหน้าวิหารหลวง)

ภายในวิหารหลวง
พระพุทธรูป
วิหารหลวง

วิหารหลวง

โดยตำแหน่งของวิหารหลวงย่อมสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัดประการสำคัญ คือ การออกแบบให้ท้ายวิหารยื่นล้ำเข้าไปในระเบียงคดเพื่อหน้าที่การใช้งานวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากวิหารเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ฐานและผนังก่อด้วยอิฐ ส่วนหลังคาเป็นงานเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ย่อมผุพังไปตามกาลเวลา และมีการบูรณปฎิสังขรณ์หลายยุคหลายสมัยบนฐานอาคารเดิม จากรูปแบบที่ปรากฎในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าวิหารหลวงได้รับการบูรณะในสมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว สังเกตได้จากพัฒนาการของงานก่อสร้าง (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

วิหารหลวง
วิหารหลวง
พระปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ
พระปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ
พระปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ

ปรางค์ประธาน

จากรูปแบบของพระปรางค์ประธาน แผนผัง ลวดลายปูนปั้น รวมทั้งโบราณวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์ ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าวัดราชบูรณะน่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ปรางค์ประธานเป็นตัวอย่างของปรางค์ขนาดใหญ่ในสมัยอยุธยาตอนต้นซึ่งเหลือรูปแบบสมบูรณ์มากที่สุดได้แก่ ชั้นฐานบัวลูกฟัก 3 ชั้น บัวลูกฟักมีขนาดใหญ่ มีระบบเพิ่มมุมประธานที่ยังมีขนาดใหญ่กว่ามุมขนาบมาก (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

พระปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ
พระปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ

ลวดลายประดับเป็นงานศิลปกรรมสำคัญที่ใช้กำหนดอายุพระปรางค์ได้ กล่าวคือ ในสมัยอยุธยาตอนต้นยังเป็นลายประดิษฐ์ที่ใกล้เคียงกับลายต้นแบบในศิลปะเขมรที่สืบทอดมายังศิลปะลพบุรี เช่น ลายกรวยเชิง ที่แม่ลายมีแกนกลางเป็นลายบั้ง ด้านข้างเป็นลายกระหนก 2 ตัว และลายแทรกเป็นลายบั้ง ที่น่าสนใจคือ ในปรางค์องค์นี้พบลวดลายปูนปั้นสมัยเมื่อแรกสร้างและงานซ่อมในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ภายในพระปรางค์ประธาน

สมบัติจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

ใน พ.ศ. 2499 เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ มีคนร้ายลักลอบขุดกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะและขโมยของมีค่าในกรุไปได้จำนวนหนึ่ง ต่อมากรมศิลปากรได้ทำการสำรวจและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับกรุพระปรางค์ โดยติดตามสิ่งของมีค่ากลับคืนมาได้ส่วนหนึ่ง ตามบันทึกของนายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น พบว่าห้องกรุมีทั้งหมด 3 กรุ กรุห้องที่ 1 อยู่ใต้ห้องคูหาปรางค์เมื่อเจาะกรุที่ 1 ลงไปจะเป็นกรุห้องที่ 2 เป็นห้องสำคัญบรรจุสิ่งของต่างๆ คนร้ายได้เจาะถึงกรุชั้นนี้และนำสมบัติไปได้ส่วนหนึ่ง ใต้กรุห้องที่ 2 มีกรุที่ 3 ซึ่งคนร้ายยังไม่ได้เจาะลงไป กรมศิลปากรได้ทำการเปิดกรุซึ่งยังคงอยู่ในสภาพเดิม (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

หากสนใจสามารถชมของมีค่าต่างๆ ในกรุ ได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พระอุโบสถ

พระอุโบสถน่าจะสร้างขึ้นพร้อมการสร้างวัดเช่นเดียวกับพระวิหารที่อยู่ในแบบแผนของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนฐานและผนัง ระบบผนังคงมีการบูรณะในสมัยอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกับวิหารหลวง

ด้านข้างวิหารหลวง
วิหารหลวง
วิหารหลวง
Juth – Blogger

และเช่นเคยการอ่านหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ทำให้การมาเยี่ยมชมวัดต่างๆ ในอยุธยาสนุกและได้รับความรู้มากมาย

"คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา" โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์
“คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์

เที่ยวชมวัดเสร็จแล้ว อย่าลืมแวะดื่มกาแฟโบราณจาก “อโยธยาคาเฟ่” นะคะ รสชาติดี รถเข็นคุณลุงอยู่ด้านหน้าวัดราชบูรณะ

อโยธยาคาเฟ่ ฝากรักเอาไว้ในเพลง

The photographs may not be copied, reproduced, redistributed, manipulated, projected, used or altered in any way without the prior express written permission of Juth.Net

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.