พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน

นบพระนำพร บวรสถานพุทธปฏิมามงคล

นับแต่พุทธศักราช 2554 เป็นต้นมา กระทรวงวัฒนธรรมมอบหมายให้กรมศิลปากรจัดกิจกรรมพิเศษสักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมากรแห่งแผ่นดิน เนื่องในเทศกาลปีใหม่มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สักการบูชาพระพุทธรูปสำคัญในการดูแลรักษาของกรมศิลปากรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ด้วยความที่ชื่นชอบในความสวยงามของพระพุทธรูปวังหน้า ทำให้เราเดินทางมาที่นี่เพื่อสักการะพระพุทธรูปทั้ง 10 องค์ เราเดินทางมาถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในช่วงเช้าที่อากาศดี ท้องฟ้าสดใส

เนื้อหาในโพสต์นี้มาจากหนังสือ “นบพระนำพร บวรสถานพุทธปฏิมามงคล 2565” โดยกรมศิลปากร

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เป็นพระที่นั่งเดิมภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นครั้งแรกโดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ต่อมารื้อสร้างใหม่โดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (Wikipedia)

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

เดิมเรียกว่าพระที่นั่ง “สุทธาสวรรย์” หรือ “พระที่นั่งพุทธาสวรรย์” สมเด็จพระบราราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ราว พ.ศ. 2338 หลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคตได้อันเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ใช้เป็นพระที่นั่งท้องพระโรง สมัยรัชกาลที่ 3 มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ลักษณะภายนอกจึงเป็นแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยรัชกาลที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้อันเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับมาประดิษฐานดังเดิม พร้อมทั้งเปลี่ยนนามเป็น “พระที่นั่งพุทไธสวรรย์” และขยายชาลาด้านทิศตะวันออกสร้างพระที่นั่งทรงปราสาทแห่งแรกในวังหน้า คือ “พระที่นั่งคชกรรมประเวศ” เป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมารื้อไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากชำรุด ยากแก่การบูรณปฏิสังขรณ์ ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีจิตรกรรมฝาผนังครั้งรัชกาลที่ 1 เขียนภาพเทพชุมนุมและพุทธประวัติ ซึ่งนับว่ามีคุณค่าด้านฝีมือช่างจิตรกรรมเป็นอย่างสูง (ข้อมูลจากป้ายด้านหน้าพระที่นั่ง)

ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระพุทธรูปทั้ง 10 องค์
พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะสุโขทัย-ล้านนา

พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลาแสดงปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระนาสิกโด่ง พระเนตรเหลือบลงต่ำ ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย เหนือพระอุษณีษะมีพระรัศมีรูปเปลวเพลิง ทรงครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นแบนกว้างพาดอยู่บนพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ประทับอยู่บนฐานบัวหงาย 3 ชั้น รองรับด้วยฐานสิงห์ซึ่งฐานนี้น่าจะทำเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง

แม้ตำนาน “นิทานพระพุทธสิหิงค์” กล่าวว่าพระพุทธสิหิงค์มีความเก่าแก่และเป็นที่เคารพนับถือสืบเนื่องมายาวนานนับตั้งแต่พุทธศักราช 700 แต่รูปแบบของพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ปรากฏในปัจจุบัน น่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 ตามรูปแบบศิลปะสุโขทัย-ล้านนา อย่างไรก็ดีหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) ภัณฑารักษ์พิเศษ กรมศิลปากร ได้เคยอธิบายถึงพุทธลักษณะของพระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในหนังสือ “พระพุทธสิหิงค์กับวิจารณ์” ว่าพระพุทธสิหิงค์มีพุทธลักษณะเหมือนกับลักษณะของพระพุทธรูปประทับนั่งฝีมือช่างลังกาทุกสมัย กล่าวคือ พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ชายสังฆาฏิยาว และพระวรกายไม่สู้จะอวบอ้วน

นิทานพระพุทธสิหิงค์ พระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่นิพนธ์เป็นภาษาบาลี ระหว่างพุทธศักราช 1945-1985 มีความสรุปดังนี้ พระพุทธสิหิงค์สร้างโดยพระมหากษัตริย์กรุงลังกาเมื่อพุทธศักราช 700 กำหนดพระลักษณะให้ละม้ายองค์พระส้มมาสัมพุทธเจ้าให้มากที่สุด เนื่องจากได้ถอดมาจากรูปแปลงของพญานาคที่เคยเห็นพระพุทธองค์ เนรมิตกายให้ดูเป็นแบบอย่าง กล่าวกันว่า เมื่อหล่อพระพุทธสิหิงค์ขึ้นแล้ว เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ พระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย (สันนิษฐานว่า คือ พ่อขุนรามคำแหง) โปรดเกล้าฯ ให้พญาสิริธรรมนคร ผู้ปกครองเมืองสิริธรรมนคร (ปัจจุบันคือ นครศรีธรรมราช) แต่งฑูตอันเชิญพระราชสาส์นทูลขอพระพุทธสิหิงค์มาจากพระเจ้ากรุงลังกา พระพุทธสิหิงค์ลอยมาขึ้นฝั่งทะเลภาคใต้อย่างปาฏิหาริย์หลังจากเรืออับปางระหว่างเดินทาง แล้วพระร่วงเจ้าก็นำพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานสักการบูชา ณ กรุงสุโขทัยสืบเนื่องมา ครั้นกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง พระมหากษัตริย์หรือเจ้าเมืองผู้มีอำนาจได้อันเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานตามเมืองสำคัญหลายแห่ง ได้แก่ พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย และเชียงใหม่ จวนจนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงอันเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่พุทธศักราช 2205 พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง 105 ปี จนถึงพุทธศักราช 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระพุทธสิหิงค์ถูกอันเชิญกลับไปยังเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของสยามประเทศแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้าในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เสด็จฯ นำทัพไปเชียงใหม่ ทรงอันเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทธาสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เมื่อพุทธศักราช 2338

ครั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อันเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ตอลดรัชกาลที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในพุทธศักราช 2394 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อันเชิญกลับไปประดิษฐานในพระราชวังบวรสถานมงคล และเมื่อพุทธศักราช 2396 รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งพุทธาสวรรย์เป็นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พระพุทธรูปปางประทานพร

พระพุทธรูปปางประทานพร ประติมากรรมศิลานูนสูงสลักบนแผ่นอิง ได้มาจากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย พระพุทธรูปมีพระพักตร์กลม เม็ดพระศกขนาดเล็ก พระอุษณีทรงกรวย พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็กแสดงอาการยิ้มที่มุมพระโอษฐ์เล็กน้อย จากพุทธลักษณะสามารถกำหนดอายุในสมัยราชวงศ์ปาละ พุทธศตวรรษที่ 14 (ประมาณ 1,200 ปีมาแล้ว)

ปางประทานพร ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วรทมุทรา” ในศิลปะอินเดีย คือ ท่ามือที่ให้ความหมายถึงการประทานพร โดยไม่ได้เจาะจงใช้สำหรับพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่ง ต่อมาในศิลปะอินเดียแบบคุปตะและปาละ จึงเริ่มใช้เฉพาะเจาะจงกับพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์โดยจะต้องสลักรูปพระอินทร์ และพระหรหมประกอบเป็นบริวารทั้ง 2 ข้างพระองค์

พระไภษัชยคุรุ

พระไภษัชยคุรุ รูปแบบศิลปะลพบุรี มีลักษณะพระพักตร์เหลี่ยม มีขอบไรพระศก พระขนงยาวต่อกัน แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ทรงมงกุฏ เบื้องหลังเศียรมีนาคแผ่พังพาน 7 เศียร บนพระหัตถ์ขวามีวัตถุลักษณะคล้ายผอบหรือตลับยา อันลักษณะทางประติมานวิทยาของพระไภษัชยคุรุที่กล่าวไว้ในพุทธศาสนมหายาน

ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 พุทธศาสนมหายานเจริญรุ่งเรืองสูงสุดภายใต้การปกครองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์มีความเลื่อมใสในพุทธศาสนามหายานอย่างชัดเจน ดังจารึกที่พบในประเทศไทย อาทิ จารึกด่านประคำ จังหวัดบุรีรัมย์ จารึกปราสาทตาเมือนโตจ และจารึกปราสาท จังหวัดสุรินทร์ มีข้อความกล่าวทำนองเดียวกันว่า “ขอความนอบน้อมจงมีแด่ พระพุทธเจ้า ผู้มีนิรมาณกาย ธรรมกาย และสัมโภคกาย ผู้ล่วงพ้นภาวะและอภาวะทั้งสอง ผู้มีอาตมันเป็นสอง ผู้หาอาตมันมิได้ ข้าพเจ้าขอนมัสการพระชินะ ผู้เป็นราชาแห่งรัศมี คือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรยะ เพราะพระองค์จึงเกิดความเกษมและความไม่มีโรค แก่ประชาชน ผู้ฟังอยู่แม้เพียงพระนาม”

เชื่อกันว่าผู้บูชาพระไภษัชยคุรุ อาจหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยการสวดบูชาออกพระนาม หรือเพียงสัมผัสรูปของพระองค์ก็อาจหายจากโรคทางกายและทางใจ

พระอมิตายุส

พระอมิตายุส พระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ (ธยานมุทรา) ศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 (หรือประมาณ 500 ปีมาแล้ว) หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ปิดทอง มีพุทธลักษณะสำคัญ คือ พระเศียรทรงกระบังหน้าประดับลายดอกไม้ ส่วนรัดเกล้าทรงกรวยซ้อนลดหลั่นขึ้นไปเป็นชั้นๆ ยอดเป็นเปลวเพลิง พระกรรณทรงกุณฑลเป็นแผ่นวงกลมขนาดใหญ่ ด้านหลังพระกรรณประดับแถบผ้าเป็นวงโค้ง พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางหงายซ้อนกันบนพระเพลาในลักษณะการทำสมาธิ บนพระหัตถ์ขวามีวัตถุคล้ายภาชนะปิดด้วยฝารูปทรงเปลว ประทับขัดสมาธิ

พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะหมายถึง พระอมิตายุส นามหนึ่งของพระอมิตาภพุทธเจ้า โดยปรากฏในรูป พระโพธิสัตว์ผู้เป็นอมตะ และเป็นผู้ประทานอายุยืน นิยมเคารพบูชามากในธิเบตโดยพระอมิตายุสมีลักษณะสำคัญคือ ประทับขัดสมาธิเพชร แสดงปางสมาธิ ถือหม้อน้ำอมฤต ทรงเครื่องแบบกษัตริย์

พระอมิตายุสเป็นรูปเคารพที่นิยมนับถือมากในหมู่ชาวพุทธวัชรยาน โดยมักประกอบพิธีบูชา สวดมนต์ขอพร เพื่อให้มีชีวิตยืนยาว มีสุขภาพแข็งแรง

พระพุทธรูปฉันสมอ

พระพุทธรูปฉันสมอ พระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานบัว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชงฆ์ สันนิษฐานว่า เคยมีผลสมอในพระหัตถ์ซ้ายแต่สูญหายไปแล้ว

อนึ่งผละขามป้อมกับผลสมอนั้น ในภาษาบาลีสันสกฤต เรียกต่างกัน กล่าวคือ อามลกะ หมายถึงมะขามป้อม แต่ผลสมอจะเรียกกว่า “หรีตกี” ซึ่งทั้งสองคำนี้ปรากฏในพระไตรปิฎก ผลสมอ คือ หรีตกี คือ อามลกะที่ผลสีเหลือง แตกต่างจากในภาษาไทยที่ผลสมอกับผลมะขามป้อมมีลักษณะและรสที่แตกต่างกัน ถึงแม้จะใช้เป็นยาได้เช่นเดียวกัน

พระพุทธรูปปางนี้มาจากเหตุการณ์หนึ่งในพุทธประวัติกล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ 7 หลังจากการตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จไปประทับเสวยวิมุติสุขใต้ร่มไม้ราชายตนพฤกษ์ (ต้นเกด) ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นมหาโพธิ์ นับเป็นระยะเวลาแห่งการเสวยธรรมปิติหลังการตรัสรู้เป็นเวลา 49 วัน แต่ยังไม่ได้เสวยพระกระยาหารใด ก่อนจะถึงวันขึ้น 6 ค่ำ เดือนอาสาฬหะ (เดือน 8) จะทรงมีพุทธกิจรับข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง จากพ่อค้าชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ พระอินทร์จึงถวายผลสมออันเป็นทิพยโอสถแก่พระพุทธองค์ก่อนในเบื้องต้น จึงทรงรับและเสวยผลสมอนั้นตามเทวประสงค์

พระพุทธรูปปางฉันสมอจึงนิยมบูชาเพื่อให้มีกำลังกายปราศจากโรคาพยาธิเบียดเบียน

พระหายโศก

พระพุทธรูปนามมงคลว่า “พระหายโศก” องค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชร เห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง พระหัตถ์ขวาคว่ำอยู่บนพระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงด้านล่าง ซึ่งมีความหมายเกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติตอนมารผจญเป็นกิริยาทรงเรียก พระแม่ธรณีมาเป็นพยานการบำเพ็ญบารมี พระหัตถ์ด้านซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลา

จากพุทธลักษณะที่กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงพุทธศิลป์ล้านนาแบบสิงห์ 1 ในสมัยหลัง กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 อันเป็นยุคทองของล้านนาที่นิยมสร้างพระพุทธรูปแบบฐานบัวงอน กรมศิลปากรได้อันเชิญออกมาให้ประชาชนสักการะเพื่อสวัสดิมงคลในการเริ่มปีใหม่ กอปรกับช่วงระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา จึงเป็นโอกาสอำนวยพรให้ประชาชนชาวไทยผ่านพ้นวิกฤตโรคภัยไปได้โดยทั่วกัน

พระพุทธรูปปางห้ามญาติ (ปางประทานอภัย)

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน ปางห้ามญาติ หรือปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นเสมอพระอุระ หันฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้า จากพุทธลักษณะแสดงถึงพุทธศิลป์แบบศิลปะสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 หรือเมื่อกว่า 600 ปีมาแล้ว

การบูชาพระพุทธรูปปางห้ามญาติ จึงเป็นการบูชาเพื่อปัดเป่าภยันตรายและอุปสรรคต่างๆ ให้หายสิ้นไปด้วยพระพุทธานุภาพ

พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ปางห้ามสมุทร

พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ปางห้ามสมุทรองค์นี้มีลักษณะพระพักตร์เรียวยาวและมีพระหนุเป็นปม พระเนตรเหลือบมองต่ำ มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าไปอาศัยอยู่ในโรงบูชาเพลิงของชฎิลอุรุเวลกัสสป ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเนรัญชราโดยที่ชฎิลอุรุเวลกัสสปนั้นแกล้งให้พระพุทธเจ้าอาศัย และต้องการให้พญานาคทำร้าย หรือไม่ก็รอให้ระดับน้ำท่วมพระองค์ เมื่อระดับน้ำเพิ่มขึ้นพระองค์ก็บันดาลด้วยอิทธิ์ฤทธิ์ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมถึงพระองค์

พระชัยเมืองนครราชสีมา

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบบนฐานเตี้ย ลักษณะพระพักตร์สี่เหลี่ยมอย่างพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 หรือศิลปะอยุธยาตอนต้น กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-23

นิยมนับถือเพื่อขจัดอุปสรรค อำนวยให้พิธีการสำเร็จผล

พระชัย

พระชัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีตาลปัตรหรือพัดยศบังพระพักตร์ ทั้งนี้พระชัยมีลักษณะพิเศษ คือ จะต้องประทับขัดสมาธิเพชร คือ นั่งไขว้พระชงฆ์หงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง

สำหรับพระชัยองค์นี้ สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24 หรือราว 200 ปีมาแล้ว หล่อด้วยสัมฤทธิ์ กะไหล่ทอง มีตาลปัตรรูปพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ทองคำลงยาฝังพลอย

ตามพระราชประเพณีแต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินจะทรงสร้างพระชัย หรือพระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาล สำหรับบูชาในหอพระ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระองค์เอง รวมทั้งอันเชิญในการศึกสงคราม การเสด็จประพาส เพื่อขจัดอุปสรรค ป้องกันภยันตรายจากสิ่งชั่วร้ายอัปมงคลต่างๆ

เจชอบความสวยงามพระชัยมาก งดงามมากจริงๆ ค่ะ การจัดแสดงมีตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2564 ถึง 9 มกราคม 2565 ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ นะคะ

The photographs may not be copied, reproduced, redistributed, manipulated, projected, used or altered in any way without the prior express written permission of Juth.Net

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.