วัดบางพลีใหญ่ใน

หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน

ประเพณีรับบัว” เป็นหนึ่งในประเพณีที่สืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ สิ่งดีงามที่หล่อรวมความเป็นหนึ่งระหว่างชาวไทย ลาว และมอญพระประแดงเข้าด้วยกันตามประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน ประเพณีรับบัวมีต้นกำเนิดจากความมีน้ำใจของคนในท้องถิ่นและชาวมอญพระประแดง ที่ในช่วงออกพรรษาต้องการเดินทางไปทำบุญที่อำเภอพระประแดง จึงเก็บดอกบัวบริเวณอำเภอบางพลีเพื่อบูชาถวายพระสงฆ์และเก็บฝากเพื่อน

จนเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาที่ชาวอำเภอเมืองและอำเภอพระประแดงได้พายเรือมาเก็บดอกบัวที่อำเภอบางพลี และถือโอกาสเดินทางมานมัสการหลวงพ่อโต ปัจจุบันประเพณีรับบัว จัดต่อเป็นประจำทุกปีในช่วงสัปดาห์หลังวันออกพรรษา ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ถือโอกาสมาเยี่ยมชมประเพณีที่ดีงาม นมัสการพระที่มีชื่อเสียง ชมสถาปัตยกรรมที่งดงามของวัดบางพลีใหญ่ในและตลาดโบราณบางพลี ตลาดที่มีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนริมน้ำแม่เจ้าพระยา เป็นแหล่งรวมอาหาร เครื่องดื่ม ขนมพื้นบ้าน และเครื่องใช้ในครัวเรือนโดยชาวบางพลี

ประเพณีรับบัว

ประวัติวัดบางพลีใหญ่ใน (พระอารามหลวง)

วัดบางพลีใหญ่ใน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดสมุทรปราการ วัดนี้อยู่ริมลำคลองสำโรง ห่างจากประตูน้ำสำโรงประมาณ ๑๓ กิโลเมตร มีเนื้อที่ ๔๐ กว่าไร่ เนื้อที่ตั้งวัดประมาณ ๓๕ ไร่เศษ

การคมนาคมจากกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่นๆ มายังวัดนี้สะดวกสบายมาก สามารถเดินทางได้ทั้งทางรถยนต์ และทางเรือ ทางรถยนต์นี้เข้าทางถนนสายบางนา-ตราด ประมาณกิโลเมตรที่ ๑๒ ข้ามคลองสะพานชวดลากข้าว จะมีทางเลี้ยวเข้าสู่อำเภอบางพลีทางด้านขวามือประมาณ ๓ กิโลเมตรครึ่งจะถึงวัด ส่วนทางเรือมีเรือโดยสารอยู่ที่ท่าเรือสำโรง เรือโดยสารออกทุกระยะประมาณไม่เกิน ๓๐ นาที จะถึงวัดบางพลีใหญ่ใน นับว่าการคมนาคมที่สะดวกสบายมาก

วัดบางพลีใหญ่ใน

วัดบางพลีใหญ่ใน เดิมชื่อ วัดพลับพลาไชยชนะสงคราม ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง เรียกวัดนี้ว่า วัดใหญ่ หรือ วัดหลวงพ่อโต… ทางประวัติศาสตร์จากโบราณคดีจารึกสืบต่อกันแต่ครั้งโบราณกล่าวว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยามาถึง ๒ ครั้ง มาในปี พ.ศ.๒๑๑๒ และ พ.ศ.๒๓๑๐ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกอบกู้อิสรภาพสู่ความเป็นไทยอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงกระทำสงครามและได้มีชัยชนะแก่พม่าหลายต่อหลายครั้ง จนอาณาเขตของประเทศไทย (สยาม) ขยายออกไปอีกอย่างกว้างขวาง

วัดบางพลีใหญ่ใน

ณ ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงยาตรากองทัพ ขับไล่ข้าศึกมาทางทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา มาถึงยังตำบลหนึ่งซึ่งยังไม่ปรากฎนาม และ ณ ที่แห่งนี้ พระองค์ได้ทรงสั่งให้หยุดทัพพักไพร่พล และได้ทรงทำพิธีกรรมบวงสรวงหาฤกษ์ยามอันเป็นนิมิตตามตำรับพิชัยสงคราม ก่อนที่จะยาตราทัพขับไล่กวาดล้างข้าศึกและอริราชศัตรูต่อไป การทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงนี้ ตามประเพณีโบราณมีการปลูกศาลเพียงตา พร้อมทั้งเครื่องเซ่นสังเวยประดามี ข้าวตอก ดอกไม้ สัตว์สี่เท้า สัตว์สองเท้า ขนมต้มขาว ขนมต้มดำ ขนมต้มแดง และอื่นๆ พร้อมทั้งอัญเชิญพระแสงปืน พระแสงดาบ และสรรพวุธบรรดามี เพื่อเข้าในพิธีพลีกรรมบวงสรวงนี้ พร้อมทั้งตั้งสัจจะอธิษฐานต่อเทวาอารักษ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่า “ถ้าหากพระองค์ยังมีบุญญาธิการปกครองไพร่ฟ้าประชาชน พร้อมทั้งบ้านเมืองให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้วขอให้พระองค์จงมีชัยชนะต่ออริราชศัตรูทั้งมวล” ครั้นเมื่อพระองค์ทรงกรีฑาทัพรบได้ชัยชนะแล้ว ก็ทรงยาตราทัพกลับกรุงศรีอยุธยา ย้อนผ่านกลับมาทางเดิมที่พระองค์ได้ทรง กระทำพิธีกรรมบวงสรวงนั้น ก็ทรงได้โปรดให้สร้างพลับพลาชัยขึ้นไว้เป็น อนุสรณ์ในชัยชนะของพระองค์ และทรงขนานพระนามว่า “พลับพลาชัย สงคราม” ต่อมาชาวบ้านในละแวกแถบนั้นได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นที่ พลับพลาแห่งนี้และเรียกวัดที่สร้างขึ้นนี้ว่า “วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม”

สถานที่บูชาวัตถุมงคล
บริเวณภายในวัดบางพลีใหญ่ใน

ส่วนชื่อของตำบลนั้นได้มีชื่อว่า “บางพลี” ก็เพราะเหตุที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกระทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงนั่นเอง ดังนั้น ประชาชนทั้งหลายจึงเรียกว่าบางพลี และวัดพลับพลาชัยชนะสงครามก็ถูกเรียกตามตำบลนั้นอีกว่า “วัดบางพลี” ซึ่งชื่อนี้ประชาชนนิยมเรียกกันมากกว่าชื่อเดิม แต่เนื่องจากต่อมาได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกอยู่ทางด้านนอก เรียกกันว่าวัดบางพลีใหญ่กลาง ส่วนวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม เป็นวัดที่ อยู่ทางด้านในมีอาณาเขตใหญ่โต ซึ่งต่อมาได้พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นมิ่ง ขวัญของวัด จึงเรียกว่า “วัดบางพลีใหญ่ใน” หรือ “วัดหลวงพ่อโต” มา จนตราบเท่าทุกวันนี้ (ที่มา: ประวัติวัดบางพลีใหญ่ใน โดยพระราชเสนาบดี เจ้าคณะตำบลบางพลี เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่ใน พระอารามหลวง, ๒๕๕๗

วัดบางพลีใหญ่ใน
หลวงพ่อโต
หลวงพ่อโต

ประวัติหลวงพ่อโต

วัดบางพลีใหญ่ใน หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันในชื่อ “วัดหลวงพ่อโต” เหตุที่เรียกกันดังนี้ ก็เพราะว่ามีพระพุทธรูป ปางค์มารวิชัย (สะดุ้งมาร) ที่ใหญ่โต เนื้อเป็นทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ลืมพระเนตรเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถของวัดบางพลีใหญ่ใน

ตามตำนานประวัติของ หลวงพ่อโต ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ประมาณกาล ๒๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว ได้มีพระพุทธรูป ๓ องค์ปาฏิหาริย์ ลงมาจากทางเหนือ ลอยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ เข้าใจว่าศาสนิกชนในกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้อาราธนาท่านลงสู่แม่น้ำเพื่อหลบหนีข้าศึก ด้วยในสมัยนั้นบ้านเมืองได้เกิดมีการทำสงครามกับพม่า พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์จึงได้แสดงอภินิหารลอยล่องมาตามลำแม่น้ำ และบางครั้งก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้ผู้คนเห็นจนเป็นที่ โจษจันกันทั่วถึงอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน จนล่วงมาถึงตำบลๆ หนึ่ง ท่านได้ผุดให้คนเห็นเป็นอัศจรรย์ เหล่าศาสนิกชนในตำบลนั้น ต่างก็พร้อมใจกันทำพิธีอาราธนาท่านขึ้นสู่ฝั่ง ฝูงชนประมาณ ๓ แสนคน ช่วยกันฉุดลากชะลอองค์ท่าน ก็ไม่สามารถนำท่านขึ้นสู่ฝั่งได้ และท่านก็จมลงหายไปในแม่น้ำ ยังความเศร้าโศกเสียดายของประชาชนใน ตำบลนั้นเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาตำบลนั้นจึงถูกเรียกชื่อว่า “ตำบลสามแสน” แต่ต่อมาก็ถูกเรียกกลับกลายเป็นสามเสน “ตำบลสามเสน” มาจนกระทั่งบัดนี้ ท่านสุนทรภู่จินตกวีเอกของไทย ยังได้พร่ำพรรณนาไว้เป็น คำกลอนว่า

“…ถึงสามเสนแจ้งความตามสำเหนียก 

เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี 

ประชาชนฉุดพุทธรูปในวารี

ไม่ได้เคลื่อนที่ชลธารบาดาลดิน 

จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง 

เออชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้น

นี่หรือรักจักมิน่าเป็นราคิน

แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคำ

ขอใจนุชที่ฉันสุดจริตรัก

ให้แน่นหนักเหมือนพระพุทธรูปเลขาขำ

ถึงแสนคนจะมาวอนอ้อนนำ

สักแสนคำอย่าให้เคลื่อนจงเหมือนใจ…”

หลวงพ่อโต

พระพุทธรูปได้ล่องลอยทวนน้ำมาทั้ง ๓ องค์ โดยลำดับ ครั้งหนึ่งปรากฏ ว่าได้ล่องลอยไปจนถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา แสดงอภินิหารปรากฏให้ผู้คนเห็นอีกประชาชนต่างก็ได้ช่วยกันอาราธนาและฉุดชะลอท่านขึ้นจากลำน้ำ แต่ก็ไม่สำเร็จอีก พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ได้ลอยทวนน้ำ และจมหายไป ณ ที่แห่งนั้น จึงได้ชื่อว่า สามพระทวน แต่ต่อมาก็ได้เปลี่ยนเรียกกันอีกเป็น สัมปทวน คือ แม่น้ำหน้าวัดสัมปทวน อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปัจจุบัน พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ท่านล่องลอยผ่าน ณ ที่ใด ที่นั่นก็จะมีชื่อเรียกกัน ใหม่ทุกครั้ง ดังเช่น ท่านได้แสดงอภินิหารล่องลอยให้ผู้คนเห็นเป็นอัศจรรย์ เรื่อยมาในแม่น้ำบางปะกง ผู้คนมากมายพยายามที่จะอาราธนาท่านขึ้น แต่ก็ไม่สำเร็จอีก ณ สถานที่นั้นจึงได้มีเรียกชื่อกันว่า “บางพระ” ซึ่ง เรียกว่าคลองบางพระในปัจจุบัน ครั้นต่อมาภายหลังปรากฏว่าพระพุทธรูปองค์หนึ่งไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่ วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม แต่ต่อมาในเวลาไล่เลี่ยกัน พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งก็ไปขึ้น ประดิษฐานอยู่ที่ วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา

หลวงพ่อโต

และอีกองค์หนึ่งได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ปาฏิหาริย์ลอยวกเข้ามาในลำคลองสำโรง ประชาชนพบเห็นต่างโจษจันกัน ไปทั่วถึงความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหาร พร้อมกับพากันอาราธนาท่านที่ปากคลองสำโรงนั้น แต่ท่านก็ไม่ยอมขึ้นและในที่นั้นได้มีผู้มีปัญญาดีคนหนึ่ง ได้ ให้ความเห็นว่าคงเป็นพระบุญญาอภินิหารของท่าน แม้จะใช้จำนวนผู้คน สักเท่าไรอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งคงไม่สำเร็จเป็นแน่ควรจะเสี่ยงทายต่อ แพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยมาตามลำน้ำสำโรง และอธิษฐานว่า “หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใด ก็ขอจงได้แสดง อภินิหารให้แพที่ลอยลงมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด” เมื่อประชาชนทั้งหลายได้เห็นพ้องดีกันดังนั้นแล้วก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือซึ่งสมัยนั้นเป็นเรือพายทั้งสิ้น ช่วยกันพายจูงแพลอย เรื่อยมาตามลำคลอง เรือที่ใช้ลากจูงแพมานั้นมีชื่อแปลกต่าง ๆ กัน เช่น ชื่อ ม้าน้ำ เป็ดน้ำ ตุ๊กแก และอื่น ๆ เป็นต้น และจัดให้มีการละเล่นต่าง ๆ มี ละครเจ้ากรับรำถวายมาตลอดทาง และการละเล่นอื่น ๆ ครึกครื้นมา ตลอดทั้งลำน้ำ…..ครั้นแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะ สงคราม หรือวัดบางพลีใหญ่ใน ในปัจจุบันนี้ แพที่ผูกชะลอองค์ท่านก็เกิด หยุดนิ่ง พยายามจำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง แพนั้นก็หาได้ขยับ เขยื้อนไม่ ประชาชนที่มากับเรือและชาวบางพลีถึงกับขนลุกซู่เห็นเป็น อัศจรรย์ยิ่งนักต่างก้มลงกราบนมัสการด้วยความเคารพ และเปี่ยมด้วย สักการะ จึงได้พร้อมใจกันอาราธนาตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าหลวงพ่อจะ โปรดคุ้มครองชาวบางพลีให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ก็ขอ อาราธนาอัญเชิญองค์ท่านให้ขึ้นจากน้ำได้โดยง่ายเถิด”

และก็เป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก เพียงใช้คนไม่มากนักก็ สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซร้อง ในอภินิหารของท่านเป็นอย่างยิ่งและได้อาราธนาท่านขึ้นไปประดิษฐานใน พระวิหารซึ่งต้องชะลอท่านขึ้นข้ามฝาผนังวิหาร เพราะขณะนั้นหลังคาพระ วิหารยังไม่มีและประตูวิหารก็เล็กมาก ต่อจากนั้นท่านจึงได้ประดิษฐานอยู่ ในวิหารนั้นเรื่อยมา ครั้นต่อมาได้รื้อวิหารนั้นอีกเพื่อสร้างเป็นพระอุโบสถถาวร จึงต้องชะลออาราธนาองค์ท่านมาพักไว้ยังศาลาชั่วคราว จนกระทั่งได้สร้างพระอุโบสถสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถเพื่อเป็นพระประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน การที่ท่านได้พระนามว่า “หลวงพ่อโต” นั้นคงเป็นเพราะองค์ของท่านใหญ่โตสมกับที่ ประชาชนเรียก คือใหญ่โตกว่าองค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันทั้ง ๒ องค์ จึงถือ เป็นนิมิตอันดีให้ประชาชนพากันถวายนามว่า “หลวงพ่อโต” เป็นสิ่งที่ เคารพสักการะของชาวบางพลี และเป็นมิ่งขวัญของวัดบางพลีใหญ่ในมา จนตราบเท่าทุกวันนี้ 

การที่ลำดับว่าองค์ไหนเป็นองค์พี่ องค์กลาง องค์น้อง นั้นและ ลอยมาพร้อมกันตามตำนานที่สืบต่อกันมา เข้าใจว่าคงจะนับเอาองค์ที่ อาราธนาขึ้นจากน้ำได้ก่อนเป็นองค์พี่ ขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๒ เป็นองค์กลาง ขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๓ เป็นองค์น้อง ตามลำดับ คือ 

๑) หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม อาราธนาขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๑ เป็นองค์พี่

๒) หลวงพ่อโสธร วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา อาราธนาขึ้นจากน้ำ องค์ที่ ๒ เป็นองค์กลาง 

๓) หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ อาราธนา ขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๓ เป็นองค์น้อง เรียงกันตามลำดับ

(ที่มา: ประวัติหลวงพ่อโต โดยพระราชเสนาบดี เจ้าคณะตำบลบางพลี เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่ใน พระอารามหลวง, ๒๕๕๗)

ทางเดินไปตลาดโบราณบางพลี

ตลาดโบราณบางพลี พ.ศ. 2400

เราเดินไปตลาดโบราณบางพลี เพื่อไปหาของอร่อยทาน ก๋วยเตี๋ยวหมูโบราณ คือ ดี อร่อยค่ะ

ตลาดโบราณบางพลี
ตลาดโบราณบางพลี
ภายในตลาดโบราณบางพลี
ร้านขายของเล่น
ร้านก๋วยจั๊บ ตา-ยาย
ภายในร้านก๋วยจั๊บ ตา-ยาย
ก๋วยเตี๋ยวเป็ด
เส้นเล็กแห้งยำ
ข้าวหมูกรอบ
ร้านก๋วยเตี๋ยวหมูโบราณ
เส้นเล็กแห้ง
บะหมี่แห้ง
กาแฟโบราณ
บ้าบิ่น
หลวงพ่อโต หน้าตัก 3 นิ้ว รุ่นขัดเงา

เราเช่าหลวงพ่อโต หนัาตัก 3 นิ้ว รุ่นขัดเงา มาด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลกับบ้าน

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.