วัดธรรมิกราช

วัดธรรมิกราช พระนครศรีอยุธยา

วัดธรรมิกราชจัดว่าเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในเกาะเมือง เพราะตั้งอยู่ติดกับพระราชวัง วัดนี้ไม่มีประวัติการสร้างชัดเจนนักในพระราชพงศาวดาร มีเพียงพงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นตำนาน กล่าวถึงวัดแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ชื่อว่า วัดมุขราช สร้างโดยพระยาธรรมิกราช พระโอรสในเจ้าชายสายน้ำผึ้ง

จึงสันนิษฐานว่าคือวัดธรรมิกราช นอกจากนี้ในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ใน พ.ศ. 2087 ได้มีการนำตัวพระศรีศิลป์ เชื้อพระวงศ์ที่ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่วัดราชประดิษฐ์มาสอบสวนเรื่องการคิดกบฏและให้คุมตัวไว้ ณ วัดทะมุขราช ซึ่งสันนิษฐานว่าคือวัดธรรมิกราช ถ้าเป็นวัดนี้จริงตามข้อสันนิษฐานแสดงว่าวัดนี้มีมาก่อน พ.ศ. 2087 (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

เจดีย์ประธานมีชุดรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยม มีสิงห์ล้อมรอบฐานประทักษิณ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น

เจดีย์ประธาน

จากหลักฐานการขุดแต่งพบว่าภายในเจดีย์องค์นี้มีเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กที่ถูกสร้างครอบทับไว้ จากการสันนิษฐานเบื้องต้น เจดีย์องค์นอกที่เห็นในปัจจุบันนี้จัดเป็นงานในสมัยอยุธยาตอนต้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 เพราะฉะนั้นเจดีย์องค์ด้านในซึ่งมีมาก่อนอาจจะเป็นงานที่สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19

วัดธรรมิกราช อยู่ในกลุ่มวัดที่มีเจดีย์ทรงระฆังซึ่งมีชุดฐานในผังแปดเหลี่ยม สายสุพรรณภูมิ (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

เจดีย์ประธาน
วัดธรรมิกราช
วัดธรรมิกราช

คติการสร้างเจดีย์ที่มีสิงห์ล้อม

สิ่งสำคัญที่น่าจะใช้ในการกำหนดอายุของเจดีย์วัดธรรมิกราชได้ คือ รูปแบบและคติการสร้างเจดีย์ที่มีสิงห์ล้อม คติการสร้างเจดีย์ที่มีสัตว์รองรับฐานปรากฏแล้วตั้งแต่ศิลปะอินเดีย ในสายวิวัฒนาการของเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนใหญ่นิยมทำช้างล้อมซึ่งรับอิทธิพลมาจากทางลังกา พบในศิลปะพุกาม สุโขทัย และล้านนา แต่ที่เป็นสิ่งห์ล้อมพบในสมัยอยุธยาตอนต้นเท่านั้น (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

วัดธรรมิกราช
วัดธรรมิกราช

วิหารหลวง

ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธาน และหันหน้าไปทางตะวันออก คือ หันไปทางเจดีย์ประธาน ถือเป็นวิหารขนาดใหญ่มาก เพราะมีถึง 9 ห้อง (นับเป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่สุดในศิลปะอยุธยา) และมีการต่อมุขโถงด้านหน้าและด้านหลัง

วิหารนี้ยกฐานสูงเป็นประทักษิณ 1 ฐาน เป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่รองรับส่วนฐานวิหารที่เป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ รองรับผนังวิหารที่ยังคงปรากฎหลักฐานอยู่มากกว่าแห่งอื่นๆ ลักษณะของผนังก่อแบบหนาและมีความสูงมาก มีเสาติดผนังแบบเดียวกับที่พบในสมัยอยุธยาตอนปลาย อาจจะมีการบูรณะในสมัยหลัง แต่ยังใช้ระบบการเจาะเป็นช่องแสง ยังไม่เจาะช่องหน้าต่าง ภายในมีเสาร่วมในที่เป็นเสากลมแบบอยุธยาตอนต้น ส่วนที่มุขเป็นเสาแปดเหลี่ยม (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

วิหารหลวง
วิหารหลวง
วิหารหลวง
วิหารหลวง
วิหารหลวง
วิหารหลวง

เศียรธรรมิกราช

เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่นี้เรียกว่า “เศียรธรรมิกราช” เพราะพบที่วัดธรรมิกราชแห่งนี้ แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อแก่” เพราะมีความเคร่งขรึม ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา อยุธยา เป็นเศียรพระพุทธรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย

“เศียรธรรมิกราช” เหลือเฉพาะส่วนพระพักตร์ที่มีความสูงประมาณ 2 เมตร พรอบพระพักตร์สี่เหลี่ยม (กรามใหญ่) พระขนงเชื่อมต่อกันเป็นรูปปีกกาและเป็นสันนูน พระเนตรเปิดกว้างเหลือบลงต่ำเล็กน้อย ไม่แสดงดวงพระเนตร พระนาสิกค่อนข้างใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้าง

กำหนดอายุโดยลำดับวิวัฒนาการทางด้านรูปและสภาพแวดล้อมทางศิลปกรรม อาจกล่าวได้ว่าเศียรธรรมิกราชจัดเป็นศิลปะแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 สมัยอยุธยาตอนต้น ระหว่างต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นสายที่มีวิวัฒนาการมาจากศิลปะเขมรและศิลปะลพบุรีจากเมืองลพบุรี (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

เศียรธรรมิกราช พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

การได้อ่านหนังสือของอาจารย์ศักดิ์ชัย ก่อนมาชมสถานที่จริง ช่วยให้ได้ความรู้มากขึ้น ขอบคุณสำหรับผลงานดีๆ ค่ะ เจมีหนังสือของอาจารย์หลายเล่มเลย

"คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา" โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์
“คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์

The photographs may not be copied, reproduced, redistributed, manipulated, projected, used or altered in any way without the prior express written permission of Juth.Net

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.