หลังจากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกผลงาน Digital Startup จัดโดย DEPA และ โครงงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สิ่งหนึ่งที่บางกลุ่มอาจละเลยไปอย่างน่าเสียดาย คือ การนำเสนอผลงาน
เราคิดว่า การนำเสนอผลงาน เป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ศาสตร์การพูด ศาสตร์การขาย การโน้นน้าว และการใช้ภาษากาย
ตั้งแต่เป็นนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ เราจะคุ้นชินกับการ “present” หน้าห้อง ให้อาจารย์ และเพื่อนดู
หัวใจหลักของการเป็นนักออกแบบ คือ ทุกอย่างต้องดูดี น่าซื้อ น่าใช้ สิ่งสำคัญจึงเป็นเรื่องของ ภาพลักษณ์
เราต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้คนเห็นถึงแนวคิด ความตั้งใจ เทคนิค ที่ทุ่มเททำ ภายใน 10-15 นาที
เราจะได้คะแนนดี หรือแย่ มันอยู่แค่ไม่กี่นาทีนี้ มันคืองานขาย ขายผลงาน ขายตัวตน
เพราะอาจารย์ และเพื่อน ไม่ได้มาอยู่กับเรา เค้าไม่เห็นว่าเราทำอะไรบ้าง
ถ้าบอกว่า “ผมทำงานจนถึงเช้าเลยนะ” แสดงถึงความทุ่มเทมั้ยคะ?
สำหรับเจมองว่า คุณน่าจะจัดการเวลาไม่ดีมากกว่า
อาจารย์ไม่เข้าใจในงานเราเหมือนตัวเราเอง เราอย่าคิดว่าใครจะเข้าใจเราได้ง่ายๆ
เพื่อนบางคน ทำงานดีมาก แต่ present ไม่เก่ง ให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลงานน้อย คะแนนก็ไม่ค่อยดี เพราะอาจารย์ไม่เข้าใจ ไม่เห็นถึงใจความหลัก
แต่กระนั้นบางคนงานดีสุดๆ ไปเลย โดดเด่นมาก ถึงแม้พูดไม่เก่ง แต่อาจารย์ก็เล็งเห็นได้ เพราะงานล้วนๆ แบบนี้เรียก งานขายตัวเอง
แต่ถ้างานเราไม่เด่น ไม่ทำให้ “ว้าว” ขนาดนั้น เราเสี่ยง …เสี่ยงที่คนอื่นจะไม่เห็นเรา มองข้ามเราไป
Startup แต่ละกลุ่มมีเวลา นำเสนอผลงานแค่ 10 นาที และมีเวลาตอบคำถามแค่ 5 นาที
คุณจะได้ทุนหลายแสน หรือเป็นล้าน ไปทำความฝัน อยู่ที่ตรงนี้
เสียดายบางกลุ่ม ดูเหมือนแนวคิดจะดี แต่นำเสนอไม่ดี พูดไม่ครอบคลุม ตอบไม่ชัดเจน ไม่มีสื่อมาช่วย ไม่มีวีดีโอ ไม่มี mockup ไม่มีอะไรเลย เสียดาย
การที่เราพูดถึงแต่ไอเดีย มันก็เหมือนเราจับต้องไม่ได้ เหมือนไม่มีหลักประกัน ถึงความเป็นไปได้ โอกาสก็จะหลุดไป
นักศึกษาทำงานออกมาดีทุกกลุ่ม เห็นความตั้งใจ แนวคิดดี คะแนนไม่ห่างกันนะ สำหรับที่เราให้
อยู่ที่ว่าใน 15 นาทีนั้น สามารถทำให้คนนอก ที่ไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษา สามารถเข้าใจ ในสิ่งที่คุณทำแค่ไหน หยิบประเด็นที่เด่น ของโครงงานเรามาพูดได้ทันไหม คลิปวีดีโอพร้อมมั้ย ตัว prototype มีมั้ย infogrphic อธิบายอะไรได้แค่ไหน
การตอบคำถามคณะกรรมการยิ่งสำคัญ
ถ้าเราตอบคำถามได้ชัดเจน มั่นใจ เตรียมมาดี มีไหวพริบ งานคุณดูดีทันที
ไม่ใช่ว่าอันนี้ “ตอนผมทำ มันไม่เป็นแบบนี้”
“อันนี้ผมเลือกใช้วิธีนี้ เพราะอาจารย์บอก”
“ผมยังไม่ได้คิดเผื่อไว้”
หรือเวลาคณะกรรมการให้คำแนะนำ ความคิดเห็น สิ่งสำคัญ คือ อย่ามัวแต่เป็นน้ำเต็มแก้ว เพราะคุณจะไม่ได้รับอะไรเลย
การไม่รับคำวิจารณ์ เปรียบหมือนคุณทำงานไว้ให้ตัวเองชื่นชมคนเดียว
Startup บางกลุ่ม โต้เถียงกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่วิจารณ์เรื่อง business model จนหน้าดำหน้าแดง
เสียดายค่ะ เพราะถ้าฟังดีๆ จะได้ประโยชน์ และดูเป็นคนรับฟัง พร้อมที่จะพัฒนาต่อไปได้ กรรมการก็พร้อมจะให้โอกาสคุณไปด้วย
โอกาสสำคัญมาก สำหรับการทำงาน
โอกาสที่จะเติบโต โอกาสที่จะได้งาน โอกาสที่จะได้รับทุน ฯลฯ
ในส่วนการเลือกคนมาเป็นคนนำเสนอ
ถ้าเป็นงานกลุ่ม การจะเลือกคนนำเสนอ คนที่จะตอบคำถาม จึงสำคัญ คนๆ นั้น อาจจะไม่ใช่คนที่เป็นคนทำงาน แต่เค้ามีบุคลิก มีไหวพริบ มีความมั่นใจ ก็ได้
เพราะคนทำงานเอง อาจจะไม่มีบุคลิกตรงนี้ เราจึงมีคนเบื้องหน้า และเบื้องหลัง
บริษัทต่างๆ จึงต้องมี Sales หรือ AE และที่เก่งๆ หลายคนปั้นงาน present จากสิ่งที่ดูไม่มีอะไร ให้ดูมีอะไร และน่าเชื่อถือได้
sales เอง ก็ไม่ใช่ฝ่ายผลิต แต่เป็นฝ่ายที่ต้องเจอกับลูกค้า ต้องนำงานเราไปในภาพลักษณ์ที่สวยที่สุด เมื่อเจอคำถามจากลูกค้า ต้องตอบให้ได้ ตอบในคำตอบที่ฉลาดด้วย
sales ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากนักออกแบบ สร้างสรรค์ presentation ให้งดงาม มีการทำงานจากหลายแผนกร่วมกัน จึงออกมาเป็นงานที่ดีได้
สำหรับนักศึกษา เราเองจะถนัดบางส่วน และมีอีกหลายเรื่องไม่ถนัด เราอาจจะบ่นว่าทำไมอาจารย์ต้องให้โจทย์แบบนี้
อาจารย์ทำถูกแล้วค่ะ ถ้าอาจารย์ให้แต่งานที่นักศึกษาถนัด และทำได้ หนูก็ไม่มีวันได้พัฒนาตัวเองเลย
การทำโครงงาน คือ การเรียนรู้การจัดการ การบริหาร ถ้าเราไม่เก่งในบางเรื่อง เราต้องเรียนรู้ ที่จะทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราขาด
Put the right man on the right job คือบทพิสูจน์ผู้บริหารอย่างหนึ่ง
การที่นักศึกษา พยายามที่จะใส่ใจในการนำเสนอผลงานตัวเอง
จะช่วยพัฒนาให้เวลาไปสัมภาษณ์งาน สามารถที่จะนำเสนอตัวเองได้ดี และให้บริษัทต่างๆ อยากจ้างงานด้วยนะคะ